ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ที่ผมได้มีโอกาสทำงานในบทบาทการเผยแพร่ความรู้และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน นับตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน รวมเวลาก็เข้าปีที่ 9 แล้ว ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในมิติการทำงานด้าน CSR ที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ทั้งในทางที่แสดงให้เห็นถึงระดับความรับผิดชอบขององค์กรที่เพิ่มขึ้นและในทางที่องค์กรใช้ CSR เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์มากขึ้น
ในทุกๆ ปี จะมีองค์กรธุรกิจหน้าใหม่ๆ ที่ก่อนหน้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับ CSR มากนัก ได้แสดงความสนใจในการศึกษาและกระตือรือร้นที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวมีขึ้นในองค์กรของตนเอง ซึ่งจากการพบปะกับองค์กรเหล่านี้ คำถามที่ผมได้รับอยู่เสมอๆ คือ “องค์กรยังไม่มี CSR และไม่รู้จะเริ่มอย่างไร”
คำถามนี้ อาจจะเป็นกับดักทำให้หลายองค์กรที่อยากทำ CSR ต้องเสียเงินจ้างที่ปรึกษาหรือเอเจนซี่ มาช่วยคิดกิจกรรม CSR ให้ เพราะเข้าใจว่า องค์กรตนเองยังไม่มี CSR
ในความเป็นจริง ทุกองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอยู่รอดมาจนถึงวันนี้ ต้องมีเรื่องของ CSR อยู่ในองค์กรบ้างไม่มากก็น้อย ข้อเท็จจริง คือ ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการไม่ทราบว่า มีการดำเนินงานใดบ้างในองค์กรที่เข้าข่ายเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR
ฉะนั้น คำถามที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เริ่มจาก “องค์กรยังไม่มี CSR” แต่ต้องเริ่มจาก “มีเรื่องใดบ้างในองค์กรที่เป็น CSR” และสิ่งที่ควรลงมือทำก่อนการคิดกิจกรรม CSR ขึ้นใหม่ คือ การสำรวจกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจัดจำพวก CSR สำหรับการพัฒนาต่อยอดขยายผล ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์
หลักการง่ายๆ ที่ช่วยบ่งชี้ว่า เรื่องใดเป็น CSR หรือไม่ คือ ประการแรก เรื่องนั้นทำแล้วส่งผลต่อผู้อื่น (รวมถึงสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศโดยรวม) จึงต้องเกิดเป็น “ความรับผิดชอบ” ต่อผลแห่งการดำเนินงานนั้น ในทางกลับกัน กิจกรรมใดที่องค์กรทำแล้วไม่ส่งผลต่อผู้อื่น ถือว่าไม่อยู่ในข่ายของ CSR
ในความเป็นจริง คงไม่มีเรื่องใดที่องค์กรทำ แล้วไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เช่น บริษัทหนึ่งตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีหรือธุรกิจซบเซา เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้องค์กรอยู่รอด และได้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด กรณีนี้ ถือว่า บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคม (ในที่นี้ คือ พนักงาน) ตามข้อกำหนดทางกฎหมาย
หากแต่อีกบริษัทหนึ่ง ต่อกรณีเดียวกันนี้ ตัดสินใจที่จะประคับประคองกิจการ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายอื่น โดยพยายามไม่ให้เกิดผลกระทบกับการว่าจ้างพนักงาน การดำเนินงานนี้ ถือว่า บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน และอาจจะเหนือกว่าการตัดสินใจดำเนินงานของบริษัทแรกที่เป็นไปตามภาระผูกพันทางกฎหมาย เพราะองค์กรสมัครใจที่จะใช้วิธีดำเนินการเพื่อรักษาพนักงานที่ร่วมก่อร่างสร้างธุรกิจมาด้วยกันไว้
ประการที่สอง “สังคม” ที่อยู่ในคำว่า “Corporate Social Responsibility” มิได้หมายถึง สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ภายนอกองค์กรเท่านั้น อันที่จริงแล้ว การทำ CSR ตามลำดับที่ควรจะเป็น คือ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมกับผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรก่อน ซึ่งก็คือ พนักงาน ทั้งที่เป็นพนักงานประจำ ลูกจ้างรายวัน ผู้รับเหมา หรือผู้รับจ้างทำงานให้ (Outsource) ตัวอย่าง CSR ที่ทำกับแรงงานขั้นพื้นฐาน คือ การมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนหรือผลตอบแทนให้ตรงต่อเวลา การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรกลุ่มต่อมา คือ ผู้บริหารหรือผู้จัดการ ที่องค์กรต้องรับผิดชอบดำเนินการจัดวางระบบการบริหารให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีโครงสร้างและกลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบาย กลยุทธ์ และกรบวนการปฏิบัติงานตามที่ได้วางไว้ มีการเสริมสร้างวัฒนธรรม ค่านิยมองค์กร และทัศนคติของบุคลากรที่เอื้อต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นรากฐานให้เกิดการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร
องค์กรที่เริ่มจากการทำ CSR ภายในองค์กรได้ข้างต้น จะมีความพร้อมต่อการขับเคลื่อน CSR ภายนอกองค์กร มากกว่าการเริ่มนับหนึ่งที่กิจกรรม CSR เพื่อสังคมภายนอกตั้งแต่แรก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่เริ่มจากการมีบรรษัทภิบาล หรือ Corporate Governance ในองค์กร เป็นฐานสำหรับการดำเนินเรื่อง CSR กับสังคมภายนอกองค์กรในขั้นต่อไป
หวังว่า ข้อแนะนำข้างต้น จะช่วยให้องค์กรที่กำลังจะใช้เงินไปกับการคิดหรือการว่าจ้างทำกิจกรรมเพื่อสังคม ได้เตรียมองค์กรให้พร้อมก่อนดำเนินการ และได้ประโยชน์จากการใช้เม็ดเงินงบประมาณอย่างคุ้มค่าครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, February 27, 2014
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment